Public Speaking ภาษาอังกฤษครั้งแรกของชีวิต ในงาน Droidcon Bangkok 2017

Akexorcist
3 min readMar 21, 2017

สำหรับชาว Android Developer แล้ว ถ้านอกเหนือจากงาน Google I/O ในแต่ละปีแล้ว ก็ต้องบอกเลยว่างาน Droidcon ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในงานใหญ่ๆที่อยากได้ลองไปสัมผัสประสบการณ์บ้าง ซึ่งโดยปกติแล้วงานดังกล่าวจะจัดขึ้นที่ต่างประเทศซะมากกว่า

แต่ในช่วง 18–19 มีนาคมของปีนี้ ต้องบอกเลยว่าเป็นฤกษ์งามยามดีมากๆที่ได้มีงาน Droidcon Bangkok จัดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และผมก็เป็นหนึ่งใน Speaker (หัวข้อ Android fragmentation in real world) ของงานนี้ด้วยเช่นกัน

ในระหว่างที่เตรียมตัวล่วงหน้ากันหลายสัปดาห์นั้น ผมก็ได้ถามพี่ตี๋ Jirawatee 🔥 ที่เป็น Speaker ในงานนี้ด้วยเช่นกัน ว่า Session ของพี่ตี๋จะพูดภาษาอะไร ซึ่งพี่ตี๋ก็บอกผมว่า

“ภาษาไทย”

โอเคเลย อย่างน้อยก็ไม่ใช่เราคนเดียววะ ที่พูดเป็นภาษาไทย

วันงานวันแรก — ในระหว่างที่เตรียมพร้อม ณ ตอนเช้าตรู่ ก็มีเหตุด่วนที่ทำให้ผมต้องโทรไปหาโอ๋ Wittaya A ที่ Organize งานนี้ ว่าย้ายเวลาไปลง Slot อื่นที่ยังว่างอยู่ให้หน่อย ซึ่งโอ๋ก็ยินดีช่วยเหลือเต็มที่ จึงย้ายไปเป็น Session สุดท้ายของวันที่สองของงาน จากเดิมคือ Session แรกสุด วันแรกสุด ในห้อง Breakout Room (ห้องเล็ก)

ในระหว่างที่ผมมีเหตุด่วน จึงทำให้หายหัวไปในช่วงเช้าของงาน แต่ก็มีหลายๆคนในงานทักผมมา เนื่องจากสังเกตุเห็น Session ของผมที่เลื่อนเวลาที่แปะไว้ในป้ายตารางเวลาภายในงาน

ทักมาประมาณนี้

หืม? บอกให้โอ๋เลื่อนเวลาไปแล้วนี่นา?
เห็นผมเป็นคนยังไงกันห๊ะ!!

เนื่องจากเห็นข้อความต่างๆนานาจึงพอเดาได้ว่าผมเลื่อนกระทันหัน และ MC ไม่ได้อัปเดตข้อมูลตรงนี้จึงทำให้ผู้เข้างานพากันไปรอฟัง Session ของผมในวันแรกกัน

ปล. ขอโทษด้วยจริงๆฮะ และขอบคุณทุกๆคนที่ช่วยเหลือผม ขนาดน้อง Mike Paniwan ยังช่วยแก้ข้อมูลตารางเวลาในหน้าเว็ป Droidcon ให้อ่ะ ซาบซึ้งมากๆ (T^T)

กว่าผมจะมาถึงที่งานก็ปาไปบ่ายแล้ว แต่นั่นก็ไม่ประหลาดใจเท่าหลายๆคนพากันเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับเมื่อเช้าว่าผู้เข้างานต่างพากันไปรอฟัง Session กันเยอะมาก จนต้องมีการแจ้งให้ทราบในตอนนั้นว่าได้เลื่อนไปเป็น Session สุดท้ายของวันที่สองแทน

มาฟัง Session ของ Ty Smith @ Uber ทันอยู่นะ

และที่ประหลาดใจยิ่งกว่าก็คือตอนที่ผมเข้าไปนั่งฟัง Session ของพี่ตี๋ที่พูดเรื่อง Firebase ในห้องเล็ก

พี่ตี๋พูดเป็นภาษาอังกฤษ!!! คนทรยศศศศศศศ!!!

มาทราบทีหลังคือมีหลายๆคนในห้องเป็นคนต่างชาติที่ฟังภาษาไทยไม่ได้ ก็เลยต้องด้นสดเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่เตรียมพูดภาษาไทยมาในตอนแรก (กราบงามๆ)

หลังจากนั้นความชิบหายก็เริ่มเข้ามาที่ผมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น iñaki villar ที่ชอบชักชวนให้ผมลองพูด Session เป็นภาษาอังกฤษดูซักครั้ง (ชวนผมตั้งแต่ตอนงาน GDE Clinic ละ) จนกระทั่ง…

Session ของผมที่เลื่อนมาเป็น Session สุดท้ายของวันที่ 2 ได้ถูกกำหนดไว้เป็นห้อง Main Auditorium หรือห้องหลักของงานนั่นเอง เนื่องจากไม่มี Session อื่นแล้ว และตารางเวลาก็ว่างมากพอที่จะแทรก Session ของผมเข้าไป

หรืออีกนัยนึงก็คือทุกคนจะมาที่ห้องนี้เพราะไม่มี Session ที่ห้องอื่นแล้วนั่นเอง และก็หมายความว่าจะมีชาวต่างชาติมานั่งฟังด้วยเช่นกัน

ต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษ

ถ้าใครที่สนิทกับผมและเคยเดินทางไปต่างประเทศด้วยกันก็จะรู้ว่า ผมไม่ใช่คนที่พูดภาษาอังกฤษเก่งซักเท่าไร ถ้าเป็นบทสนทนาทั่วๆไปหรือฟังบรรยายก็ไม่มีปัญหาหรอก แต่จะให้พูดบรรยายเป็นภาษาอังกฤษเนี่ยนะ… มันยากมากๆเลยนะ!!

และนี่คือหนึ่งในกำแพงอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผม ผมรู้สึกว่า Public Speaking ด้วยภาษาอังกฤษถือว่าเป็นกำแพงขนาดใหญ่ในชีวิตและความคิดของผมเลยล่ะ

บ้างก็มองว่ามันคือความกดดันจนรู้สึกเครียด บ้างก็มองว่ามันคือกำแพงที่ข้ามไปไม่ได้ ด้วยเหตุผลต่างๆนานาๆ

แต่สำหรับผมแล้ว

กำแพงใดที่เป็นอุปสรรคในชีวิต มันมีไว้ให้เราทำลายทิ้ง แล้วก้าวข้ามมันไป โดยใช้ความกดดันและโอกาสเป็นตัวช่วยผลักดัน

และถ้าเราก้าวข้ามกำแพงนั้นได้ ก็หมายความว่าเราพัฒนาตัวเองได้มากขึ้นไปอีกขั้นนั่นเอง

ดังนั้นก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเสียโอกาสดีๆนี้ไปใช่มั้ยล่ะ?

ไม่สำคัญว่าจะทำอะไร แต่สำคัญว่าจะต้องทำยังไง

สิ่งที่ผมต้องทำในตอนนั้นคือ “Public Speaking เป็นภาษาอังกฤษ”

ปัญหาของผมคือ “ผมไม่ได้พูดภาษาอังกฤษได้ดีขนาดนั้น”

ซึ่งดูยังไงก็โคตรไม่เหมาะสมเลย ฮ่าๆ แต่ถ้าลองคิดให้มากกว่านั้นก็จะพบว่า Public Speaking ไม่จำเป็นต้องพูดได้ลื่นไหลหรือพูดเก่งเพียงอย่างเดียว เพราะหัวข้อที่ผมจะพูดเป็นเรื่อง Technical สำหรับ Android Developer

iñaki villar สหาย GDE ชาวต่างชาติของผม เคยบอกไว้ว่า

พวกเราเป็น Developer เวลาคุยกันก็ใช้คำศัพท์สำหรับ Developer ด้วยกันอยู่แล้วนี่ ดังนั้นมันไม่จำเป็นว่าเราต้องพูดเก่งหรอก เพราะเวลาเราพูดคำศัพท์เหล่านั้นไป คนฟังก็จะเดาและเข้าใจเราได้ไม่ยากหรอก ที่เหลือก็ใช้คำพูดง่ายๆ อย่างเช่น “อย่าทำแบบนี้นะ” “ทำแบบนี้สิ” บลาๆ

(จริงๆเค้าพูดเป็นภาษาอังกฤษน่ะแหละ)

หัวข้อที่ผมจะพูดคือ Android fragmentation in real world ซึ่งเป็นหัวข้อที่ผมเลือกขึ้นมาพูด เพราะเชื่อว่าน่าจะตอบคำถามหลายๆอย่างที่ Android Developer ค้างคาอยู่ในใจกันพอสมควร

Public Speaking ทุกครั้งของผม ถ้าไม่มีการกำหนดหัวข้อตายตัวมาให้ตั้งแต่แรก ผมก็จะไม่พูดหัวข้อเดิมๆซ้ำๆ จะต้องเป็นเรื่องที่คิดขึ้นมาอย่างสดใหม่ตลอด ซึ่งหัวข้อ Android fragmentation in real world ก็เป็นหนึ่งในนั้น

เมื่อพูดไม่เก่ง ก็ต้องทำเนื้อหาให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้

จุดประสงค์ของหัวข้อที่ผมจะพูดก็คือต้องการแบ่งปันประสบการณ์หลายๆอย่างที่ได้จากการเป็น Android Developer มาเป็นระยะเวลานาน เจอปัญหาอะไรมาบ้าง แก้ไขยังไง ใช้วิธีไหนดีกว่ากัน ดังนั้นข้อมูลตรงนี้จะมีบางส่วนที่เป็นข้อมูลเฉพาะตัวของผม ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ฟังหลายๆคน

ข้อมูลเฉพาะที่ได้จากการสะสมและศึกษาด้วยตัวเองจริงๆ

ซึ่งในตอนแรกก็มั่นใจว่าเนื้อหาที่เตรียมมานั้นครอบคลุมมากพอแล้ว แต่พอรู้ว่าต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษและอยากจะโฟกัสเนื้อหาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ก็เลยกลับไปเพิ่มและปรับปรุงเนื้อหาในคืนวันแรกทันที ว่ายังขาดอะไรไปหรือป่าว เรามองข้ามอะไรไปมั้ย อันไหนไม่จำเป็นก็ต้องตัดออกเพื่อไม่ให้เนื้อหาลึกและแน่นจนเกินไป

สุดท้ายแล้วสไลด์ที่ผมจะใช้พูดก็ปาไป 84 หน้า… (แต่ก็เคยทำเยอะกว่านี้นะ)

เมื่อพูดไม่เก่ง ก็ควรทำสไลด์ให้อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที

เวลาที่ต้องนึกคำพูดระหว่างที่เราพูดอยู่มันก็ยากพอสมควร แต่ถ้าต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษอยู่ในหัวระหว่างพูดด้วย ก็จะโคตรยากเข้าไปอีก เพราะต้องแปลงภาษาให้เร็วที่สุดเพื่อให้การพูดไหลลื่น

แต่ผมทำแบบนั้นไม่ได้หรอกเฟ้ย!!!

ดังนั้นถ้าเราเตรียมข้อความไว้ในสไลด์ตั้งแต่แรกก็จะช่วยลดภาระตรงนี้ไปได้เยอะมาก อันไหนที่ต้องอธิบายด้วยคำยากๆก็ให้แปลเตรียมไว้แล้วใส่ไว้ในสไลด์เลย (แต่ก็ต้องคอยระวังไม่ให้ข้อความในแต่ละหน้าเยอะเกินไปด้วยนะ)

ใช้คำที่กระชับและไม่ยาวเกินไป แต่ก็ไม่น้อยจนเกินไปจนอ่านแล้วไม่เข้าใจ

ซึ่งในระหว่างที่ทำแต่ละหน้าก็ต้องคอยคิดอยู่เสมอว่าต้องใส่คำอธิบายอะไรลงไปบ้าง อันไหนเราพูดได้ อันไหนพูดยากแล้วกลัวจะลืมเพราะตอนพูดจริงๆแล้วนึกไม่ทัน ก็จะใส่เตรียมไว้เลย

เมื่อพูดไม่เก่ง ก็อย่าให้การบรรยายดูน่าเบื่อจนเกินไป

ก็เลยใส่ภาพบางอย่างเข้าไปเพื่อเล่นมุกง่ายๆ เพราะมุกฝรั่งแตกต่างกับมุกไทยมากๆ และผมก็ไม่สามารถเล่นมุกฝรั่งได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือใช้ภาพ Meme เข้ามาช่วย

ถึงจะมีเวลานิดหน่อย แต่ฝึกซ้อมไว้ซักนิดก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

เนื่องจากต้องเปลี่ยนมาพูดเป็นภาษาอังกฤษแบบกระทันหัน จึงมีเวลาเตรียมตัวจริงๆก็แค่ 1 คืน ซึ่งผมก็เอาเวลาไปนอนหลับน่ะแหละ แล้วตื่นขึ้นมาฝึกพูดอยู่กับตัวเองก่อนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อให้จำได้ว่ามีเนื้อหาอะไรบ้าง และควรจะพูดอะไรบ้างในแต่ละหน้า

มาถึงที่งานก็ยังนั่งฝึกพูดอยู่ และหลายๆคนก็เข้าใจผิดว่าผมเพิ่งจะเผาสไลด์เสร็จ (เสร็จตั้งแต่เมื่อคืนแล้วเฟ้ย!!)

ซึ่งการฝึกซ้อมแบบนี้ก็จะช่วยให้เรานั่งคิดล่วงหน้าได้ว่าแต่ละหน้าจะพูดอะไรดี พอลองพูดซ้อมดูก็จะรู้ว่ารูปแบบการพูดแบบไหนที่ไม่โอเค จะได้ปรับเปลี่ยนคำพูดให้โอเคมากขึ้น

นับเวลาถอยหลังเพื่อเข้าสู่ Session สุดท้ายของงาน

ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ผมรู้จัก (หรือรู้จักผม) และบอกเลยว่าระหว่างที่รอถึง Session ของตัวเองนั้น มีคนเข้ามาทักและถามเกี่ยวกับ Session กันเยอะมากกกกก

“พูดเป็นภาษาอังกฤษใช่มั้ย”

แม้แต่ใน Facebook Messenger ก็ยังถามอ่ะ…
แม่ม…

หลายๆคนก็พามาแกล้งผมบ้าง ให้กำลังใจบ้าง ชวนคุยบ้าง จนต้องบอกว่าขอเวลาเตรียมตัวก่อน ไว้ค่อยคุยกันตอนจบ Session

แต่นั่นก็ทำให้ผมรู้ว่ามีหลายๆคนนั้นคาดหวังในตัวผมอยู่ว่าเนื้อหาในสไลด์จะเป็นยังไง และรอคอยที่จะดูการพูดภาษาอังกฤษบนเวทีครั้งแรกของผม

เมื่อเวลามาถึง ก็ให้มันเต็มที่ละกัน

ผมไม่ใช่พวกที่จะมานั่งกังวลหรือเครียดกับเรื่องอะไรแบบนี้ ก่อนจะถึงเวลาที่ต้องเผชิญ ก็จะใช้ไปกับการเตรียมตัวและผ่อนคลายอารมณ์/ความรู้สึก พอถึงเวลาก็ทำตามที่เตรียมตัวไว้ให้ดีๆและรอดูผลตอบรับหลังจากผ่านพ้นไปก็พอ

ถามว่าตื่นเต้นมั้ย? ก็ไม่ขนาดนั้นนะ เพราะผมค่อนข้างชินกับ Public Speaking พอสมควร ดังนั้นจึงไม่ค่อยรู้สึกตื่นเต้นมากนักเวลาเห็นผู้คนมากมายที่นั่งฟังเราพูดอยู่ ดังนั้นผมจึงโฟกัสไปที่การพูดให้ง่ายที่สุดและลื่นไหลที่สุดเท่าที่ทำได้รวมไปถึงการควบคุมและอธิบายเนื้อหาในสไลด์แต่ละหน้า

Feedback ที่ได้

ถึงแม้ว่าจะรู้สึกน่าอายนิดหน่อย แต่ผลตอบรับจากหลายๆคนก็ทำให้ผมรู้สึกดีมากกว่า ความอายก็กลายเป็นเรื่องที่เอาไว้พูดเล่นกันเฉยๆ

Feedback จากคนอื่นและจากตัวผมเองที่รู้สึกได้ระหว่างที่พูดอยู่บนเวที เพื่อนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นในวันข้างหน้า

  • ใช้คำว่า F*ck ฟุ่มเฟือยไปหน่อย (เปลี่ยนคำบ้าง)
  • เผลอหันไปมองสไลด์ด้านหลังโดยไม่จำเป็นทั้งๆที่ข้างหน้าก็มีจอให้เห็น (ไม่นับตอนหันหลังไปชี้ Pointer เพื่ออธิบายเนื้อหาบนหน้าจอ)
  • สไลด์ 84 หน้าของผมใช้เวลาไม่เกิน 50 นาทีอย่างลงตัว (แอบแปลกใจเหมือนกัน)

แต่ทุกคนก็บอกว่าภาษาอังกฤษเราไม่ได้แย่ขนาดนั้น เอาเข้าจริงก็มีคนไทยหลายๆคนที่ฟังภาษาอังกฤษไม่ค่อยเก่ง พอมาเจอผมพูดแบบนี้ก็รู้สึกว่าฟังได้ง่ายมาก ในขณะเดียวกันคนที่เป็นชาวต่างชาติก็ไม่ได้รู้สึกว่าฟังไม่รู้เรื่องเลย (แต่ก็ต้องปรับปรุงให้มันดีกว่านี้น่ะแหละ)

สรุป

หลังจากที่พูดจบก็เข้าสู่ช่วงเวลาของการจบงาน ความรู้สึกในตอนนั้นจะบอกว่าเหมือนยกภูเขาออกจากอกก็ไม่ใช่ซักเท่าไร แต่มันเหมือนว่าเราได้ก้าวข้ามผ่านกำแพงที่มันขวางกั้นเรามาตลอดซะมากกว่า

ไม่รู้ว่าใครถ่ายภาพนี้ เลยไม่ได้ใส่เครดิตไว้ให้ (แจ้งมาได้ครับ)

ในชีวิตของผมจะมี Life Achievement อยู่ไม่กี่อย่าง และประสบการณ์ครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งใน Life Achievement ของผมเช่นกัน และในที่สุดผมก็ได้ปลดล็อคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (นั่งยิ้มเหมือนคนเมากาว)

หนึ่งอย่างที่อยากจะแนะนำจากประสบการณ์ครั้งนี้ก็คือ

ถ้ามีโอกาสได้ก้าวข้ามกำแพงที่ขวางกั้นเราอยู่ ให้ลองดูซักครั้งครับ

และจงให้ใส่ใจกับขั้นตอนที่จะพาเราก้าวข้ามมันไป ให้มากกว่าความคิดที่จะก้าวข้ามกำแพงของตัวเอง เพราะ “ความคิด” เป็นเพียงแค่แรงจูงใจ แต่ “ขั้นตอน” ต่างหากที่จะเป็นแรงส่งให้เราข้ามกำแพงไปได้

แต่กำแพงของผมครั้งนี้ก็ใช่ว่าข้ามแล้วจะจบลงทันที เพราะสุดท้ายแล้วผมก็ต้องเผชิญมันต่อไปเรื่อยๆ ต้องพยายาม Public Speaking เป็นภาษาอังกฤษเรื่อยๆเพื่อทำให้มันดีกว่าครั้งแรกครั้งนี้ของผมนั่นเอง

“ก้าวข้าม” เพื่อ ”ก้าวข้ามต่อไป” นั่นเอง

  • ขอบคุณ Jirawatee 🔥 ที่ร่วมชะตากรรมด้วยกัน
  • Thanks! iñaki villar, you’re the one guy who encourage me dare to do like this.
  • ขอบคุณ Sittiphol Phanvilai ที่ดูเหมือนจะคีบตุ๊กตาอยู่ตลอดเวลาและไม่โผล่หัวมาให้ใครเห็นซักเท่าไรนัก แต่จริงๆแล้วเป็นคนที่ช่วยเหลือและให้คำแนะนำผมได้ดีที่สุดเลยล่ะ
  • ขอบคุณก๊วน GDG Thailand ที่ช่วยเหลือและให้โอกาสได้สัมผัสประสบการณ์ครั้งนี้
  • ขอบคุณทุกๆคนที่รอคอยและก่อกวนตอนผมเตรียมตัวก่อนถึง Session ของตัวเอง แม่มเป็นกำลังใจที่ดีมากๆเลยนะ

--

--

Akexorcist

Lovely android developer who enjoys learning in android technology, habitual article writer about Android development for Android community in Thailand.