เมื่อผมซื้อจอคอม 15.6 นิ้วเพื่อทำเป็นจอเสริม (Secondary Monitor)

Akexorcist
3 min readSep 5, 2022

--

จดบันทึกเป็นเรื่องราวไว้ เผื่อใครอยากทำบ้าง

เขียนโค้ดบน Android Studio ควบคู่ไปกันการดู YouTube และคุยกับเพื่อนใน Discord โดยไม่ต้องสลับหน้าจอไปมา ก็สะดวกและดูเท่ไม่เบา

เดิมทีผมเป็นคนชอบทำงานบนจอคอมแค่ตัวเดียว ดังนั้นต่อให้ใช้ Laptop ก็มักจะพับจอแล้วต่อจอแยกเสมอ เพราะตำแหน่งของจอคอมที่ใช้จะพอดีกับระดับสายตาอยู่แล้ว หรือจะบอกว่าเป็นคนที่ซีเรียสกับท่านั่งในการทำงานประมาณหนึ่งก็ว่าได้

จอที่อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาจะต้องก้มหน้าเพื่อมอง ส่วนจอที่สูงเกินไปก็จะต้องแหงนหน้า และเมื่อทำแบบนั้นนาน ๆ ก็จะทำให้เราปวดคอโดยไม่รู้ตัว (ตามประสาปัญหาออฟฟิศซินโดรม)

ดังนั้นเมื่ออ้างอิงจากท่านั่งทำงานและระดับสายตา ตำแหน่งของหน้าจอก็จะอยู่ประมาณนี้

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปก็พบว่าต้องการจอเพิ่มสำหรับใช้งานจิปาถะ เช่น แชท, เปิด YouTube, ฟังเพลง, เล่น Facebook เป็นต้น หน้าต่างของโปรแกรมเหล่านี้จะได้ไม่รบกวนหน้าจอหลักที่ใช้ทำงาน/งานอดิเรก/เล่นเกม

ก็เลยวางแผนจะซื้อจออีกตัวมาใช้งานแบบนี้แทน

เพื่อให้ท่านั่งทำงานยังคงใกล้เคียงกับของเดิม จึงต้องการจอเสริม (Secondary Monitor) มาเพิ่มพื้นที่ด้านข้างและอยู่ในระดับสายตาเช่นเดียวกับจอหลัก (Primary Monitor)

เพราะการหันหน้ามองด้านข้างเพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้ปวดคอเหมือนกับการก้มหน้าหรือแหงนหน้า

แต่ก่อนจะเล่าต่อ ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนน่าจะมีคำถามว่าทำไมผมถึงอยากได้จอแบบนั้น เพราะโดยปกติแล้วคนทั่วไปเค้าไม่ซื้อจอแบบนี้กัน ดังนั้นเรามาดูกันก่อนว่าปกติเค้าทำยังไงกัน

ซื้อจอ Ultrawide ไปเลยสิ

จริง ๆ แล้ววิธีนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ผมแนะนำสำหรับหลาย ๆ คน เพราะตอบโจทย์คนที่ต้องการพื้นที่ด้านข้างของหน้าจอเพิ่ม โดยไม่ต้องต่อจอเพิ่มให้วุ่นวาย และจอแบบ Ultrawide มักจะเป็นจอโค้ง (Curve) เพื่อให้ด้านข้างของจอโค้งเข้ามาใกล้สายตามากขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับจอประเภทนี้

และในปัจจุบันมีจอคอมในลักษณะแบบนี้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นจอคอมสำหรับสายเล่นเกมหรือสายทำงานก็ตาม

แต่สาเหตุที่ผมไม่เลือกซื้อจอแบบนี้ก็เพราะว่า

  • อยากได้จอหลักเป็นจอ 16:9 อยู่ — เคยเจอคนใช้จอ 21:9 แชร์จอใน Google Meet, Slack หรือ Zoom แล้วรู้สึกว่าจอของคนนั้นเล็กใช่มั้ยล่ะ? จริง ๆ แล้วเป็นเพราะสัดส่วนจอไม่เท่ากัน และผมไม่อยากให้จอคอมตัวเองมีปัญหาแบบนั้น
  • อยากกด Fullscreen แบบแยกจอ — ปัญหาอย่างหนึ่งของจอเดียวคือเวลาต้องการเปิดโปรแกรมใด ๆ แบบ Fullscreen มันจะขยายเต็มพื้นที่หน้าจอเสมอ แต่การมีหลายจอจะแยกการแสดง Fullscreen เป็นของใครของมัน
  • อยากแสดงหน้าจอสำหรับคอม 2 เครื่องพร้อมกันได้ — มีบางกรณีที่ผมต้องเปิด MacBook Pro ทิ้งไว้เพื่อรออะไรบางอย่างและในระหว่างนั้นก็เปิด PC เพื่อทำอย่างอื่นไปด้วย จึงอยากเปิด PC บนจอหลัก ส่วน MacBook Pro ก็เปิดคู่กันบนจอเสริม

ด้วย 3 เหตุผลนี้จึงทำให้จอ Ultrawide ไม่ตอบโจทย์กับผมซักเท่าไร

ซื้อจอแบบเดิมมาวางคู่กัน

วิธีนี้เป็นหนึ่งในวิธียอดนิยมสำหรับใครหลาย ๆ คน ที่จะซื้อจอแบบเดิมมาวางคู่กัน แล้วให้จอนึงเป็นจอหลัก ส่วนอีกจอก็เป็นจอเสริม

แต่สาเหตุที่ผมไม่เลือกซื้อจอแบบเดิมมาวางคู่กันก็เพราะว่า

  • วางแนวนอนคู่กันแล้วกว้างมากเกินไป — ผมว่าจอ Ultrawide ที่เป็นสัดส่วน 21:9 ถือว่ากำลังดี แต่ถ้าเราเอาจอ 16:9 สองจอมาวางคู่กันในแนวนอน เราก็จะได้พื้นที่หน้าจอรวมกันเป็น 32:9 ซึ่งมันกว้างและทำให้ต้องหันคอเพื่อมองแต่ละจอมากเกินไป
ขนาดภาพประกอบยังล้นขอบภาพเลย
  • วางจอเสริมเป็นแนวตั้งแล้วเลยระดับสายตา —เมื่อเราเอาจอที่มีขนาดเท่ากับจอหลักมาวางในแนวตั้ง ผลก็คือเราจะได้จอที่สูงและต่ำเกินระดับสายตา กลายเป็นว่าเวลามองจอหลักไม่มีปัญหา แต่ถ้ามองจอเสริมต้องก้มหน้าหรือแหงนหน้า สำหรับผมถือว่ามันไม่ดีซักเท่าไร
เคยลองวางจอแนวตั้งเพื่อเขียนโค้ด แต่พอใช้ไปซักพักเริ่มไม่ตอบโจทย์อย่างที่คิด
จะวางชิดขอบล่างแบบนี้ เวลามองจอเสริมด้านบนก็ต้องแหงนหน้ามากกว่าปกติ

ดังนั้นถ้าต้องการพื้นที่ด้านข้างเพิ่มและอยู่ในระดับสายตา การซื้อจอแบบเดิมมาทำเป็นจอเสริมจึงไม่ตอบโจทย์ตั้งแต่แรก (เปลี่ยนไปใช้จอ Ultrawide อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า)

อยากได้จอที่วางแนวตั้งแล้วสูงเท่ากับความสูงของจอหลัก

นั่นจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกซื้อจอเสริมมาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ค่อยมีใครทำกัน และมีหลาย ๆ อย่างที่ต้องหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อค่อนข้างเยอะ

ต้องรู้ความสูงของจอหลักก่อน

อันนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราสามารถวัดความสูงของพื้นที่หน้าจอได้เลย หรือจะคำนวณจากขนาดหน้าจอและสัดส่วนหน้าจอก็ได้

และเมื่อได้ความสูงของหน้าจอที่ต้องการแล้ว ต่อไปก็…

หาจอที่วางแนวตั้งแล้วขนาดใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้

ที่ใช้คำว่า “เท่าที่จะทำได้” เพราะว่ามันเป็นไปได้ยากมากที่จะหาจอที่มีขนาดได้พอดีเป๊ะ ๆ กับที่ต้องการ เนื่องจากหน้าจอที่มีขายในตลาดจะมีขนาดหน้าจอที่ตายตัวอยู่ เช่น 13.3", 15.6", 24", 27", และ 32" เป็นต้น

และจากการหาข้อมูลพบว่า

  • ความยาวของหน้าจอ 14” ใกล้เคียงกับความสูงของหน้าจอ 24"
  • ความยาวของหน้าจอ 15.6" ใกล้เคียงกับความสูงหน้าจอ 27"

เพราะเราวางจอเป็นแนวตั้ง จึงต้องดูความยาวของจอเสริมเทียบกับความสูงของจอหลัก

และเมื่อได้ขนาดหน้าจอแล้ว ต่อไปก็…

หาความละเอียดหน้าจอในแนวตั้งที่ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้

ความละเอียดหน้าจอก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อย เพื่อให้การลากเมาส์ระหว่างจอมีความต่อเนื่อง เราจะต้องหาจอคอมที่สามารถปรับความละเอียดให้เท่ากับจอหลัก

สมมติว่าคุณใช้จอ QHD ที่ความละเอียด 2,560 x 1,440 px คุณจะต้องหาจอเสริมที่กำหนดความละเอียด 1,440 x 810 px ได้ เพื่อที่จะได้วางเป็นแนวตั้งแล้วมีความสูงเท่ากับจอหลักพอดี

ดังนั้นต่อให้จอเสริมมีความละเอียดสูง ก็ต้องกำหนดให้เท่ากับจอหลัก เพราะถ้ามีความละเอียดต่างกันจนเกิน จะทำให้พื้นที่ในการใช้งานระหว่างจอทั้งสองเกิดการเหลื่อมกัน

ปัญหาการเหลื่อมของ UI ที่เกิดมาจากความสูงหน้าจอเท่ากัน แต่ความละเอียดไม่เท่ากัน

โดยหน้าจอแต่ละรุ่น/ยี่ห้อจะกำหนดความละเอียดหน้าจอได้ไม่เหมือนกัน ถ้าไม่นับความละเอียดหน้าจอยอดนิยมอย่าง 960 x 600, 1,280 x 720, 1,920 x 1,080 ที่มีอยู่ในแทบทุกรุ่นอยู่แล้ว แต่ไม่ได้รับประกันว่าจะกำหนดความละเอียดเป็น 1,440 x 810 ได้ ดังนั้นถ้าสามารถลองทดสอบก่อนได้ ก็ควรจะลองก่อนตัดสินใจซื้อ

และต่อไปก็…

พอร์ตเชื่อมต่อ

ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการเชื่อมต่อแบบไหน อย่างกรณีของผมคือต้องการเชื่อมต่อผ่าน HDMI หรือ Display Port ก็ได้ ในขณะที่จอบางรุ่นต้องเชื่อมต่อผ่าน USB-C เท่านั้น อาจจะไม่ตอบโจทย์สำหรับผม

ภาพจาก https://www.pcmag.com/reviews/viewsonic-vg1655

รวมไปถึงการจ่ายไฟด้วย เพราะบางรุ่นก็ต้องใช้อะแดปเตอร์แบบ AC/DC Adapter หรือบางรุ่นก็สามารถจ่ายไฟผ่าน USB-C ได้เลย

และสุดท้ายก็คือ…

ยี่ห้อ, ราคา, และคุณภาพ

สำหรับจอ 15.6" จะหาซื้อในหลาย ๆ ยี่ห้อได้แล้ว เพราะมักจะเป็น Portable Monitor สำหรับพกพานั่นเอง แต่เมื่อรวมเงื่อนไขที่ผ่านมาทั้งหมดก็อาจจะได้เห็นหน้าจอของยี่ห้อดังที่ราคาแตะหลักหมื่นก็เป็นได้

ยี่ห้อ ViewSonic ที่อาจจะไม่คุ้นหูกันซักเท่าไร แต่หาซื้อในบ้านเราได้ในราคา 9 พันกว่าบาท (จริง ๆ นะ)

แต่สำหรับหน้าจอที่เล็กกว่านั้นอย่าง 14" ต้องบอกเลยว่ายี่ห้อดัง ๆ เค้าไม่ทำกัน ก็อาจจะต้องฝากความหวังไว้ที่ยี่ห้อจีนที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน

ซึ่งประเด็นของยี่ห้อและราคาก็จะส่งผลต่อคุณภาพหน้าจอที่เราจะได้นั่นเอง

ขาตั้งจอ

อาจจะไม่เกี่ยวกับจอโดยตรง แต่ขาตั้งจอก็นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เพราะขึ้นอยู่กับว่าเราซื้อจอแบบไหนมา ถ้าเป็นจอที่มี VESA Mount ด้วยก็จะดีมาก แต่ถ้าหาไม่ได้ก็อาจจะจบด้วยการซื้อขาตั้งแบบหนีบแทน

ขาตั้งแบบหนีบ

และถ้าซื้อขาตั้งจอแบบหนีบก็อย่าลืมเช็คด้วยนะว่าที่หนีบกว้างพอสำหรับหน้าจอที่เราจะซื้อหรือป่าว

ในที่สุดก็หามาจนได้

จากการหาข้อมูลพักใหญ่ ๆ จนในที่สุดก็กดสั่งซื้อจอคอมจาก Aliexpress มา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นยี่ห้อที่ผมไม่รู้จักเช่นกัน แต่ทำยังไงได้ เพราะเป็นหน้าจอที่ใกล้เคียงกับความต้องการมากที่สุดแล้ว

จอหลักเล่นเกม ส่วนจอเสริมเอาไว้จัดการเรื่อง Livestream และคอยอ่าน Comment จากคนดู

ไม่ขอบอกว่ากดซื้อตัวไหนมา เพราะไม่ใช่หน้าจอที่ตรงกับที่ต้องการเป๊ะ ๆ แถมคุณภาพไม่ค่อยดีเท่าไร มีดีแค่ราคาถูกและใกล้เคียงกับที่ต้องการที่สุดเท่านั้นเอง

เคยซื้อจอ 10.1" มาใช้อยู่ 6 เดือน เจอปัญหาว่าใช้งานไม่สะดวกเพราะหน้าจอเล็กเกิน

จะเห็นว่าทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาหาข้อมูลนานพอสมควร ถ้ากดซื้อจอเพื่อเอามาใช้เป็นจอหลักก็คงตัดสินใจได้ง่ายกว่านี้ แต่การกดซื้อจอเสริมแล้วมารู้ทีหลังว่าไม่ตรงกับที่อยากได้ ก็คงไม่ใช่เรื่องดีสำหรับเงินในกระเป๋าซักเท่าไร

ดังนั้นถ้าคุณอยากได้จอเสริมแบบนี้เหมือนกัน ก็แนะนำว่าให้หาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจซื้อนะครับ (ถ้ายังไม่มั่นใจ อ่านบทความนี้อีกรอบก็ได้นะ)

ยอมซื้อจอ Ultrawide มาใช้ก็คงไม่ต้องลำบากขนาดนี้

--

--

Akexorcist
Akexorcist

Written by Akexorcist

Lovely android developer who enjoys learning in android technology, habitual article writer about Android development for Android community in Thailand.

Responses (2)