ทำระบบ Live Streaming ในงาน Physical Event ด้วยงบตัวเอง

Akexorcist
4 min readAug 26, 2022

จากคนที่ซื้ออุปกรณ์บนโต๊ะคอมเพื่อใช้เล่นเกม รู้ตัวอีกทีก็ไปทำระบบ Live Streaming ให้งานชาวบ้านซะงั้น

ขอเรียก Live Streaming ว่า Live เพื่อให้ข้อความสั้นกระชับมากขึ้น

ที่มาของบทความนี้

ถ้าใครยังจำกันได้ เมื่อปีที่แล้วผมอยากทำ Home Studio ในห้องทำงานตัวเอง เพื่อให้สะดวกต่อการทำงานแบบ Work From Home

แต่ด้วยความที่มีทั้ง Laptop ส่วนตัว, Laptop ของบริษัท, และ PC ส่วนตัว จึงมีการจัดสายและซื้ออุปกรณ์มาต่อเพิ่ม เพื่อทำให้โต๊ะทำงานของตัวเองพร้อมใช้งานมากที่สุดในทุกกรณี จึงได้ออกมาเป็นแบบนี้…

ภาพอธิบายการเชื่อมต่ออุปกรณ์ทั้งหมดที่อยู่บนโต๊ะทำงานทุกวันนี้

และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมก็ได้เป็นหนึ่งในทีมงาน Android Developer Meetup 08.2022 กับ iOSDevTh Meetup #21 ที่คอยช่วยดูแลเรื่องระบบ Live Streaming เป็นหลัก ด้วยเหตุผลที่ว่า

“อุปกรณ์ที่ผมมีอยู่ น่าจะทำระบบ Live ในงาน Physical Event ได้”

ระบบ Live Streaming ใน Physical Event

โดยปกติแล้ว Physical Event ในปัจจุบันมักจะทำ Live ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ผู้ชมทางบ้านสามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สะดวกมาร่วมที่งานด้วยตัวเอง

ถ้าเป็นงานที่ต้องมีความเป็นทางการพอสมควร การจ้างทีมงานจากภายนอกเข้ามาช่วยจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ด้วยความมืออาชีพของทีมงาน, อุปกรณ์, และสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมได้

แต่สำหรับงานที่ไม่ได้ซีเรียสมากนักอย่าง Developer Meetup ที่มีงบประมาณจำกัด จึงทำให้บ่อยครั้งต้องคาดหวังระบบ Live จาก Sponsor ซะมากกว่า หรือก็ไม่มี Live ไปเลย

นั่นจึงทำให้ผมตัดสินใจลองทำระบบ Live ในงาน Developer Meetup ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาด้วยตัวเองดู และเป็นที่มาของบทความนี้สำหรับผู้อ่านที่ต้องการทำระบบ Live ด้วยงบที่จำกัดหรืองบส่วนตัว

ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

บทความนี้จะไม่พูดถึงหน้าจอที่ใช้แสดงภายในงานและชุดเครื่องเสียง (ไมค์ + ลำโพง) เนื่องจากสถานที่จัดงานมีให้ใช้อยู่แล้ว

หัวใจสำคัญสำหรับการทำระบบ Live จะมีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน คือ “ภาพ” และ “เสียง” ดังนั้นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ก็จะขึ้นอยู่กับว่า “เราต้องการนำภาพ/เสียงจากที่ไหนขึ้น Live Streaming” และที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับ Live

และเมื่ออิงจากงาน Developer Meetup ที่ผ่านมา ก็จะมีรายละเอียดดังนี้

ภาพ

เพื่อให้ผู้ชมทางบ้านเห็นบรรยากาศในงานและผู้พูดควบคู่ไปกับภาพที่ฉายขึ้นหน้าจอภายในงาน จึงทำให้เราต้องนำภาพจากทั้ง 2 Source ขึ้น Live Streaming ให้ได้ โดยผมก็จะใช้อุปกรณ์ดังนี้

ภาพหน้าจอคอมที่ต่อกับ Projector

ใช้ HDMI Splitter เพื่อให้สัญญาณภาพจากคอมแบ่งออกเป็น 2 ช่อง โดยให้ช่องแรกต่อเข้ากับ Projector ตามปกติ ส่วนอีกช่องเราจะต่อเข้าคอมที่ใช้ Live นั่นเอง

เราสามารถต่อสัญญาณภาพจาก HDMI Splitter เข้าจอที่แสดงภายในงานได้เลย แต่เราจะทำยังไงให้สัญญาณภาพส่งเข้าคอมที่ใช้ Live ล่ะ? ดังนั้นเราต้องใช้ HDMI Capture เข้ามาช่วยยังไงล่ะ

โดยผมมี Genki ShadowCast ที่ซื้อมาใช้กับ Nintendo Switch และ Playstation 5 อยู่แล้ว ก็เลยเอามาใช้จับสัญญาณภาพจากคอมอีกเครื่องเข้าอีกเครื่องได้เลย

Genki ShadowCast

และถ้ามีงบซื้อ HDMI Capture ของ Elgato ก็จะสะดวกกว่ามาก เพราะมี HDMI Passthrough ในตัว ทำให้ไม่ต้องใช้ HDMI Splitter ให้วุ่นวาย

ภาพจากกล้อง

ผมใช้ Sony a6000 ที่เป็น Mirrorless Camera ที่ตัวเองมีอยู่แล้ว เพื่อเอาภาพจาก View Finder มาใช้ในการ Live

อย่าลืมขาตั้งกล้องด้วยล่ะ

แต่เนื่องจาก Sony a6000 ไม่ใช่กล้องที่สามารถนำภาพต่อเข้ากับคอมได้โดยตรง จึงใช้วิธีต่อผ่าน HDMI Output แล้วใช้ HDMI Capture อีกตัวเพื่อส่งภาพเข้าคอมที่ใช้ Live

โดยผมใช้ Elgato CamLink 4K ที่มีอยู่แล้วเช่นกัน

Elgato CamLink 4K

ต่อไปก็เป็นเรื่องของเสียง

เสียง

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าเราไม่จำเป็นต้องเตรียมไมโครโฟนและลำโพงเพื่อใช้ภายในงาน เพราะสถานที่ส่วนใหญ่มีให้พร้อมใช้งานอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องการเสียงเพื่อส่งเข้าไปใน Live เช่นกัน

เสียงจากไมโครโฟนที่ใช้ภายในงาน

โดยปกติแล้วไมโครโฟนสำหรับงานแบบนี้มักจะเป็นไมโครโฟนที่ใช้ร่วมกับเครื่องเสียงและเชื่อมต่อผ่าน XLR Connector ในกรณีที่ระบบของเครื่องเสียงสามารถส่ง Audio Output ต่อเข้าคอมได้เลยก็ถือว่าโชคดีไป (ซึ่ง Audio Input สำหรับ PC ทั่วไปจะเป็น Audio Jack 3.5mm)

แต่การคาดหวังกับระบบภายของคนอื่นก็มีความเสี่ยงพอสมควร จึงพก Audio Interface ติดตัวไปด้วย เพื่อรับสัญญาณเสียงจากระบบของเครื่องเสียงภายในงานเข้า Audio Interface ของตัวเอง เพื่อทำเป็น Audio Output และส่งต่อมาให้คอมที่ใช้ Live ได้

ซึ่งต้องขอบคุณ

ที่ให้ยืม EVO 4 และช่วยติดตั้งหน้างานให้

EVO 4

และที่สำคัญ เราควรสอบถามกับสถานที่จัดการก่อนว่าระบบเครื่องเสียงเป็นอย่างไร มี Audio Output ให้ต่อพ่วงหรือป่าว ไม่เช่นนั้น Audio Interface จะไร้ประโยชน์ไปในทันที และถึงแม้ว่าเราจะให้ไมโครโฟนต่อผ่าน Audio Interface ก่อนแล้วต่อเข้ากับระบบของเครื่องเสียงอีกที แต่ถ้าเป็นไมโครโฟนเป็นระบบไร้สายก็จะไร้ค่าเช่นกัน

ตอนจัด Live ให้กับงาน iOSDevTh Meetup #21 ก็เจอปัญหาแบบนี้เช่นกัน และแก้ปัญหาด้วยการใช้ไมโครโฟนติดคอเสื้ออีกตัวเพื่อต่อเข้าคอมที่ใช้ Live ควบคู่ไปกับการใช้ไมโครโฟนภายในงาน ซึ่งมีข้อจำกัดพอสมควร

คอมพิวเตอร์สำหรับ Live Streaming

เพื่อให้การ Live ลื่นไหลและไม่รบกวนการแสดงภาพขึ้นจอภายในงาน จึงต้องมีคอมอีกเครื่องเพื่อทำหน้าที่ Live โดยเฉพาะ และจะต้องมีสเปคที่ดีประมาณนึง เพราะต้องรับสัญญาณภาพและเสียงเข้ามาผ่าน Software แล้วรวมเข้าด้วยกันเพื่อส่งขึ้น Live

โดยผมใช้ PC (Windows) ส่วนตัวที่แบกมาเอง แต่โดยส่วนตัวแนะนำให้ใช้ Laptop ดีกว่า เพราะขนย้ายได้สะดวกกว่ามาก

อุปกรณ์ที่ใช้ทั้งหมด ซึ่งมีทั้งของตัวเอง (สีฟ้า) และสถานที่จัดงาน (สีเหลือง)

และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็พบว่าเราไม่ควรใช้ MacBook ที่เป็น macOS มาทำเป็นเครื่อง Live เพราะจะมีปัญหาว่า Live แล้วภาพไม่ลื่น (30fps) และพบว่าการใช้ PC (Windows) ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า หรือจะเป็น Laptop (Windows) ก็ได้เช่นกัน

ลองทดสอบทั้ง MacBook ที่เป็น Intel และ M1 แต่ยังไม่เคยทดสอบกับ Mac ที่เป็น M1 Max/Ultra ถ้าผู้อ่านคนไหนเคยลองและผลลัพธ์ออกมาดี ก็คอมเม้นต์บอกกันได้

สายต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ

เพื่อให้อุปกรณ์ทั้งหมดสามารถทำงานร่วมกันได้ แน่นอนว่าจะขาดสายต่ออุปกรณ์ในแต่ละส่วนไม่ได้เช่นกัน โดยขึ้นอยู่กับว่ามีอุปกรณ์อะไรบ้าง, ความยาวของสาย, ความเร็วในการรับส่งข้อมูล (เฉพาะสาย USB)

การมีกระเป๋าเก็บสายทั้งหมดที่ต้องใช้ก็มีประโยชน์ไม่น้อย

ควรติดแท็กให้กับสายทุกเส้นด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บในภายหลัง

Software ที่ใช้สำหรับ Live Streaming

สำหรับ Software ที่ผมใช้จะมีทั้งหมดดังนี้

  • OBS — โปรแกรมยอดนิยมสำหรับ Streamer มือใหม่ โดยจะใช้โปรแกรมตัวอื่นก็ได้ เอาที่สะดวก เพราะถึงแม้ OBS จะเป็นที่นิยมก็จริง แต่ก็มีปัญหาเวลา Live ที่ความละเอียด 4K และไม่สามารถ Stream ขึ้นหลาย Channel พร้อม ๆ กันได้ ต้องหาเครื่องมือเสริมมาช่วย
OBS
  • ShadowCast — เนื่องจากผมใช้ Genki ShadowCast เป็น HDMI Capture จึงต้องใช้โปรแกรม ShadowCast เพื่อแสดงภาพบน PC แล้วค่อยใช้ OBS จับภาพจากหน้าจอโปรแกรมดังกล่าวเพื่อให้โผล่อยู่ใน Live แทน
ShadowCast — Genki

ส่วน EVO 4 ที่เป็น Audio Interface ไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมเพิ่มเติม เพราะเมื่อต่อเข้ากับคอมก็จะมองเป็น Audio Input และใช้งานได้ทันที และการกำหนดค่าเกี่ยวกับเสียงโดยเบื้องต้นก็สามารถทำใน OBS ได้เช่นกัน

และภาพจากกล้องที่ใช้ Elgato CamLink 4K เวลาต่อเข้าคอมจะมองเป็น WebCam ให้ทันที จึงไม่ต้องใช้โปรแกรมเพิ่มเติม ซึ่งมีประโยชน์มากเพราะคอมไม่ต้องทำงานเยอะเกินจำเป็น (เมื่อเทียบกับ Genski ShadowCast)

สรุป

จะเห็นว่าอุปกรณ์สำหรับการทำ Live ให้กับงาน Physical Event ไม่ได้ใช้อุปกรณ์มากมายนัก แต่ก็ต้องหาข้อมูลและมีความเตรียมพร้อมประมาณหนึ่ง เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างทาง เพราะถ้ามีอะไรผิดพลาดขึ้นมานิดหน่อย ก็อาจจะต้องหยุด Live ไปเลยก็ได้

ตัวอย่างภาพตอน Live Streaming ของงาน Android Developer Meetup 08.2022

และในสถานการณ์จริง เราจะต้องคอยดูแลอุปกรณ์หน้างานเหล่านี้ตลอดเวลา เช่น ต้องมีคนควบคุมกล้องเพื่อไม่ให้ภาพหลุดเฟรม, คนคอย Monitor ว่าระบบ Live สามารถทำงานได้ปกติ, คนคอย Monitor ว่าไม่มีเสียงรบกวนหรือเสียงจากไมโครโฟนไม่เบาไปหรือดังไป เป็นต้น

ตัวอย่างภาพตอน Live Streaming ของงาน iOSDevTh Meetup #21

สำหรับงาน Developer Meetup อาจจะไม่ต้องจริงจังกับระบบ Live Streaming มากนัก แต่งานที่ให้ความสำคัญกับระบบ Live Streaming เป็นอย่างมาก การจ้างทีมงานที่เชียวชาญด้านนี้โดยตรง ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับความลำบากกับคุณภาพที่ได้มา

แต่ถ้าคุณคิดว่าอุปกรณ์ของคุณพร้อม อยากลองสัมผัสประสบการณ์แบบนี้ จะลองทำดูก็ได้นะ ถึงแม้จะเหนื่อย แต่ก็สนุกดี ได้เรียนรู้อะไรมากกว่าที่คิดด้วย 😉

อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้ว่าอย่าหาทำอีกเด็ดขาด!

--

--

Akexorcist

Lovely android developer who enjoys learning in android technology, habitual article writer about Android development for Android community in Thailand.