บันทึกการทำ Home Studio ตามแบบฉบับคนทำงานที่บ้าน
เพิ่งทำเสร็จไปไม่นาน เลยเขียนเก็บไว้ เผื่อว่าคนอ่านสนใจและอยากลองทำดูบ้าง
การทำงานของผมในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ ส่วนใหญ่จะอยู่กับหน้าโต๊ะคอมในห้องทำงานของตัวเองอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นงานบริษัทหรืองานอดิเรกก็ตาม จึงทำให้ผมตัดสินใจสร้าง Home Studio ขึ้นมาบนโต๊ะทำงานของตัวเองซะเลย
จำเป็นต้องมี Home Studio มากแค่ไหน?
ขอบอกไว้ก่อนเลยว่า Home Studio นั้นไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าเราทำอะไรที่จำเป็นต้องมี Home Studio ซะมากกว่า หรืออยากจะมีตามประสาคนชอบเล่น Gadget ก็ได้ไม่ว่ากัน อย่างกรณีของผมก็ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งมาจากความอยากได้ของตัวเองนี่แหละ (ซึ่งเป็นความรู้สึกว่าถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีก็ดีเหมือนกันนะ 😆)
ถ้าคุณเป็นคนที่มีงานหลักหรืองานอดิเรกที่จำเป็นต้องใช้กล้องหรือไมค์บนคอมเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Gaming, Public Speaking, Meeting, Product Saling, Conferences หรือ Training เป็นต้น การมี Home Studio ที่ดีก็จะช่วยเพิ่ม Production Quality ของคุณให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ต้องใช้งบเยอะแค่ไหน?
งบสำหรับ Home Studio นั้นแปรผันตามคุณภาพและจำนวนของอุปกรณ์ ดังนั้นจึงไม่มีงบตายตัว แต่สำหรับงบเริ่มต้นก็จะอยู่ที่ประมาณ 2,500 บาท
ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง?
อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการสร้าง Home Studio จะแบ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญกับอุปกรณ์เสริม ซึ่งแน่นอนว่าไมโครโฟน (Microphone), หูฟัง (Headphone) และกล้อง (Camera) จะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จำเป็นต้องมีนั่นเอง และนอกเหนือจากนั้นถือว่าเป็นอุปกรณ์เสริมทั้งหมดที่จะมีหรือไม่มีก็ได้
Microphone
ถึงแม้ว่าการใช้ไมโครโฟนจากคอมนั้นเพียงพออยู่แล้ว แต่การซื้อไมโครโฟนแยกจะให้คุณภาพเสียงที่ดีมากขึ้น และสามารถติดตั้งให้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถรับเสียงจากเราได้ง่ายกว่า
อยากรู้ว่าไมโครโฟนมีผลต่อเสียงแค่ไหน ลองกดฟังเสียงเทียบกันระหว่างไมโครโฟนจากหูฟังกับไมโครโฟนแยกที่ผมแปะไว้ข้างล่างได้เลย
สำหรับไมโครโฟนที่มาพร้อมกับหูฟังอย่าง Gaming Headphone ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นพวก Condenser Microphone หรือ Dynamic Microphone ได้ก็จะดีกว่า เพราะสามารถรับเสียงได้ดีและติดอุปกรณ์เสริมอย่างแผ่นกันเสียงลม (Pop Filter) ได้
โดยให้เลือกเป็นรุ่นที่สามารถต่อผ่านสาย USB ได้เลย เพื่อความสะดวกในการต่อเข้ากับคอม ซึ่งจะมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 บาทไปจนถึงหลักหมื่น
Microphone Accessory
สำหรับอุปกรณ์เสริมของไมโครโฟนจะเป็นของ External Microphone เท่านั้น ซึ่งจะประกอบไปด้วย Arm Stand, Shock Mount และ Pop Filter
Arm Desk Stand
แขนจับไมโครโฟนแบบยึดโต๊ะจะช่วยให้เราสามารถปรับระดับของไมโครโฟนได้ตามใจชอบ ส่วน Tripod Desk Stand ที่แถมมากับไมโครโฟนบางตัวจะทำได้แค่วางบนโต๊ะเท่านั้น
แต่ถ้าไม่ได้มีปัญหาเรื่องระยะห่างของไมโครโฟน ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ Arm Desk Stand มาใช้
Pop Filter
แผ่นช่วยกันเสียงลมที่เกิดจากการพูด (เช่น คำว่า “พบเพื่อนเพื่อพักผ่อน”) หรือลมหายใจ ซึ่งจะช่วยป้องกันเสียงเหล่านี้เข้าไปในไมโครโฟน ซึ่งเป็นของที่มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับ External Microphone
ไมโครโฟนที่ติดมากับ Gaming Headphone ก็จะเจอปัญหานี้เช่นกัน จึงเป็นที่มาว่าทำไมผมถึงแนะนำ Condenser Microphone หรือ Dynamic Microphone มากกว่า
โดย Pop Filter จะมีทั้งแบบที่มาพร้อมกับ Shock Mount กับแบบที่เป็นแขนจับเพื่อยึดเข้ากับ Arm Desk Stand อีกทีหนึ่ง
อย่างของผมสั่งแบบที่มาพร้อมกับ Shock Mount แล้วเจอปัญหาว่ามันอยู่สูงกว่าไมโครโฟนเกินไป เลยต้องสั่งแบบแขนจับมาใช้แทนในภายหลัง
ดังนั้นจะเลือกซื้อแบบไหนก็ตามความเหมาะสมเลย โดยจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 60–200 บาท
Shock Mount
อุปกรณ์ลดแรงสั่นสะเทือนเพื่อป้องกันเสียงติดเข้าไปในไมโครโฟน ซึ่งการใช้งานทั่วไปไม่จำเป็นต้องมี Shock Mount ก็ได้ เพราะแรงสั่นสะเทือนที่ว่าคือระดับห้องซ้อมดนตรีที่เสียงเครื่องเล่นดนตรีสามารถทำให้พื้นของไมโครโฟนเกิดการสั่นได้
Shock Mount จะมีจุดยึดไมโครโฟน 2 แบบด้วยกันคือแบบเสียบกับแบบขันเกลียว โดยขึ้นอยู่กับไมโครโฟนว่าใช้เป็นแบบไหน อย่างตัวที่ผมใช้อยู่จะมีจุดยึดแบบขันเกลียวให้ ซึ่งเมื่อยึดเข้ากับ Shock Mount ก็จะแน่นและแข็งแรงกว่า
โดยราคาก็จะอยู่ที่ประมาณ 100–1,000 บาท แล้วแต่วัสดุและคุณภาพ
Headphone
การใช้หูฟังสามารถเลือกได้ตามใจชอบเลยว่าจะใช้เป็น Full Size, Earbuds หรือ In-ear เพราะจุดประสงค์หลักคือใช้เพื่อให้ได้ยินเสียงของคู่บทสนทนาได้ชัดเจน และป้องกันปัญหาเสียงจากคอมพิวเตอร์หรือลำโพงแยกที่อาจจะ Feedback กลับเข้าไมโครโฟนและทำให้เกิดเสียงไมค์หอนนั่นเอง
และที่สำคัญ ควรจะเป็นหูฟังที่สามารถใส่ได้นาน ๆ โดยที่ไม่รู้สึกปวดหู
Camera
สำหรับกล้องที่จะใช้สำหรับ Home Studio นั้นมีหลายประเภท โดยขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาน แต่ที่แน่ ๆ คือการลงทุนกับกล้องมากขึ้นก็จะได้ฟังก์ชันในการใช้งานที่สะดวกมากขึ้นด้วยเช่นกัน
Built-in Camera
สำหรับกล้องที่ติดมากับเครื่องคอมพิวเตอร์อย่าง Laptop, iMac หรือ Macbook ก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน โดยมีเงื่อนไขว่ามุมกล้องควรอยู่พอดีหรือสูงกว่าระดับสายตา
เพราะการมองตรงหรือเงยหน้าเพื่อมองกล้องจะได้มุมภาพที่ใบหน้าที่ดูดีกว่าการก้มหน้า อีกทั้งยังช่วยให้ใบหน้ารับแสงสว่างได้เต็มที่ ในขณะที่การก้มหน้าจะทำให้ใบหน้ามืดลงเพราะหลบแสง
ดังนั้นถ้าอยากจะใช้กล้องจาก Laptop ก็แนะนำให้หาแท่นวางเพื่อยกระดับของตัวเครื่องให้สูงขึ้นจนหน้าจออยู่ในระดับสายของเราและมุมกล้องอยู่สูงกว่า
Webcam
ถ้าคอมพิวเตอร์เป็นแบบตั้งโต๊ะและไม่มีกล้องในตัว หรืออยากได้ตัวเลือกที่ดีกว่านี้ แต่งบไม่สูงมากนัก ก็ขอแนะนำกล้องแบบ Webcam ที่สามารถติดตั้งที่ไหนก็ได้ เพราะช่วยให้เราจัดมุมภาพได้ง่ายกว่ากล้องที่ติดมากับคอมพิวเตอร์
แต่อย่าลืมว่าคุณภาพของภาพที่ได้จากกล้องก็สัมพันธ์กับราคาด้วยเช่นกัน ถ้าซื้อ Webcam ที่ราคาถูกมาก ๆ มาใช้ก็อาจจะได้คุณภาพที่ด้อยกว่ากล้องที่ติดมากับเครื่องได้เหมือนกันนะ
หรือถ้ามี Smartphone ที่ไม่ได้ใช้งาน ก็สามารถหาโปรแกรมมาติดตั้งร่วมกับคอมพิวเตอร์เพื่อให้ใช้กล้องจาก Smartphone ได้เหมือนกันนะ
Digital Camera, Mirrorless Camera หรือ DSLR Camera
สำหรับคนที่มีกล้องอย่าง Mirrorless Camera หรือ DSLR Camera อยู่แล้ว ก็สามารถนำมาใช้งานได้เช่นกัน ถือว่าเป็นการใช้ของที่มีอยู่ให้คุ้มค่าไปในตัวอีกด้วย
และสำหรับคนที่ต้องการคุณภาพที่ดีกว่า Built-in Camera กับ Webcam และสามารถเขยิบงบให้สูงขึ้นได้นิดหน่อยก็สามารถหาซื้อ Digital Camera มาใช้ได้นะ หรือถ้างบเยอะมากจริง ๆ จะใช้เป็น Mirrorless Camera หรือ DSLR Camera ก็ได้เช่นกัน
ข้อดีของการใช้กล้องประเภทนี้เป็น Webcam คือเราสามารถตั้งค่าภาพและแสงได้ค่อนข้างละเอียด และถ้าเป็น Mirrorless Camera หรือ DSLR Camera ก็จะเลือกเลนส์ได้ตามใจชอบ เพื่อให้ได้มุมมองของภาพตามที่เราต้องการ
ในการเลือกกล้องประเภทนี้เพื่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์ แนะนำให้เลือกเป็นรุ่นที่รองรับการใช้งานเป็น Webcam จะได้ใช้งานสะดวก (ซึ่งกล้องรุ่นใหม่ในปัจจุบันก็มีหลายตัวที่รองรับแล้ว)
หรือถ้าใช้กล้องที่มีอยู่แล้ว แต่กล้องไม่รองรับการใช้งานเป็น Webcam ก็จะต้องเป็นกล้องที่มี Micro HDMI Output ในตัวและใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อแปลงภาพจาก HDMI ให้กลายเป็น Webcam (เช่น Elgato Cam Link 4K )
ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับคนที่มีกล้องอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องซื้อกล้องใหม่ แต่ซื้ออุปกรณ์เสริมเพื่อทำให้กล้องใช้งานเป็น Webcam ได้แทน
นอกจากอุปกรณ์แปลงภาพจาก HDMI เป็น Webcam แล้ว จะต้องซื้อสาย Micro HDMI to HDMI ด้วย เพราะอุปกรณ์พวกนี้มักจะมี Input เป็น HDMI แต่กล้องจะมี Output เป็น Micro HDMI
และกล้องบางตัวจะไม่สามารถชาร์จระหว่างเปิดใช้งานกล้องได้ (อย่างเช่น Sony a6000 ของผม) จึงต้องซื้อ Dummy Battery มาใช้แทน ซึ่งเป็นแบตเตอรีหลอกเพื่อให้จ่ายไฟเลี้ยงผ่าน USB จากข้างนอกได้
และในการติดตั้งกล้องประเภทนี้ก็อาจจะต้องใช้แขนยึดกล้อง Camera Arm กับ Clamp เพื่อช่วยจัดให้กล้องอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการได้ง่าย
Lighting Accessory
อุปกรณ์เสริมเพื่อจัดแสงใน ณ ที่นี้จะหมายถึงแสงที่จะช่วยทำให้ใบหน้าของเราสว่างขึ้นเท่านั้น ไม่รวมไปถึงแสงไฟสำหรับตกแต่งฉาก
เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะต้องซื้ออุปกรณ์อย่างหลอดไฟ LED เพื่อช่วยให้แสงบนใบหน้าของเราสว่างมากขึ้น เพราะโดยปกติแล้วตำแหน่งของหลอดไฟในห้องจะเน้นให้แสงสว่างไปทั่วห้องมากกว่า นั่นหมายความว่าแสงบนใบหน้าของเรานั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดไฟในห้องนั่นเอง ดังนั้นจึงควรมีหลอดไฟ LED เพื่อทำให้ใบหน้าของเราสว่างขึ้นนั่นเอง
โดยหลอดไฟ LED ที่ว่านี้ควรให้แสงกระจายแบบนวล ๆ และควรติดตั้งอยู่เหนือหน้าจอประมาณ 30cm ขึ้นไป เพื่อเลี่ยงไม่ให้แสงเข้าตาของเราโดยตรง จนรบกวนการมองหน้าจอของเรา
และเมื่อเรามีแสงไฟส่องมาที่ใบหน้าของเรา ก็สามารถเพิ่มลูกเล่นด้วยการปิดไฟในห้องแล้วตกแต่งฉากหลังด้วยแสงไฟสีต่าง ๆ ได้ด้วยนะ
เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ Home Studio เพื่อใช้งานแล้ว
จะเห็นว่าการใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว ก็เพียงพอต่อการใช้งานเหมือนกัน แต่การสร้าง Home Studio ด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มคุณภาพทางภาพและเสียงของเราให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้
ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนนั้นมีงบหรือต้นทุนไม่เท่ากัน ดังนั้นก็ขอให้เลือกซื้ออุปกรณ์ตามงบที่มีจะดีกว่า
และอย่าลืมนะว่าทั้งหมดนี้ก็เพื่อเพิ่ม Production Quality ให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม แต่หัวใจของ Online Activity ส่วนใหญ่ ก็ยังคงอยู่ที่ Content หรือเนื้อหาใน Activity นั้น ๆ อยู่ดีครับ